สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
กรกฎาคม 2567
📰 ข่าวเด่นประจำเดือนกรกฎาคม 2567 โดย สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest
Cover Photo Credit: Council of the European Union
ข้อมูลและอินโฟกราฟิก จัดทำโดย วรวิช เจตมงคลนวัช
ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ถึง 31 ธันวาคม 2567 ประเทศฮังการีจะดำรงตำแหน่งประธานแห่งคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป หรือ Presidency of The Council of the European Union ซึ่งประเทศสมาชิกสหภาพฯ จะผลัดกันเป็นประธานฯ วาระละ 6 เดือน มีภารกิจหลัก คือการจัดการประชุมระหว่างสมาชิกฯ และเป็นแกนนำในการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆ ซึ่งในฐานะประธานฯ รัฐบาลฮังการีถูกจับตามองว่าจะผลักดันประเด็นใดเป็นสำคัญ
รัฐสภายุโรปจะประกอบไปด้วยผู้แทนจากรัฐบาลของประเทศสมาชิก ซึ่งรัฐบาลฮังการีชุดปัจจุบัน มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงนโยบายใหม่ๆ ของสหภาพฯ อันเนื่องมาจากปัจจัยสำคัญ ได้แก่ การที่ประชาชนจำนวนมากเริ่มเล็งเห็นว่านโยบายที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ทั้งเศรษฐกิจที่ยังคงไม่ฟื้นตัว และปัญหาเรื่องผู้อพยพ ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ต้องการโยบายที่มีแนวทาง และวิธีการที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งอาจจะสามารถแก้ไขปัญหา หรืออย่างน้อยก็มีแนวโน้มที่ปัญหาจะลดความรุนแรงลง
เช่นเดียวกันกับสมาชิกสภายุโรปจากรัฐบาลฮังการีในปัจจุบัน ซึ่งมีตัวแทนจากพรรคการเมืองใหม่เข้ามามากขึ้น และพยายามที่จะสร้างความแปลกใหม่ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และตั้งใจที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาประเทศ รวมทั้ง การปรับเปลี่ยนเข้าสู่โลกสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นด้านนโยบายต่างประเทศ การพัฒนาและสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการค้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การปรับเป้าหมายและกระบวนการค้าให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี หรือการให้ความสำคัญกับสินค้าและบริการที่รักษ์สิ่งแวดล้อม ลดการสร้างมลพิษ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน อันจะส่งผลลัพธ์ที่ดีต่อประชากรในอนาคต
นอกจากนี้ รัฐบาลฮังการีส่งเสริมการค้าและการลงทุนกับประเทศนอกสหภาพฯ อย่างต่อเนื่อง โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและสิทธิประโยชน์อื่นๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ เช่น การให้เงินทุนสนับสนุนการตั้งโรงงาน ในเมืองต่างๆ ของฮังการี มีหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ HEPA (Hungarian Export Promotion Agency) และ HIPA (Hungarian Investment Promotion Agency) เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลฮังการียังต้องการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment-FDI) โดยให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อให้ฮังการีเป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพ มีมาตรฐานขั้นพื้นฐานในระดับสากล และแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ ICT และโลจิสติกส์ ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ คือ การที่ฮังการีมีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล อยู่ที่ระดับ 9% ซึ่งเป็นอัตราภาษีที่ต่ำที่สุดในสหภาพฯ
ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ รัฐบาลฮังการีได้ให้ความสำคัญกับการสร้างสัมพันธไมตรีกับตลาดที่มีศักยภาพและมีขนาดใหญ่ของโลกในปัจจุบัน คือ ประเทศจีน มีกิจกรรมส่งเสริมการค้าและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง อันสอดคล้องกับความต้องการ ของจีนเองด้วยที่ต้องการขยายตลาดมายังภูมิภาคยุโรปตะวันกลางเช่นกัน ตามข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative และ China-CEEC ที่มุ่งเน้นการสร้างพันธมิตรของจีนในภูมิภาคยุโรปตะวันกลางและยุโรปทางตะวันออก ล่าสุด เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 ฮังการีและจีนประกาศยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคี เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (All-weather Comprehensive Strategic Partnership) อันเป็นการตอกย้ำความร่วมมือในการพัฒนาและการค้าขายระหว่างสองประเทศมากขึ้น
รัฐบาลฮังการีมีความพยายามที่จะก้าวขึ้นมามีบทบาทในภูมิภาคฯ มากขึ้น เห็นได้จากการเน้นย้ำความสำคัญของการดำเนินนโยบาย EU Cohesion Policy[1] ที่ให้ความช่วยเหลือประเทศในภูมิภาคยุโรปกลาง และคาบสมุทรบอลข่าน[2] ให้สามารถเข้าสู่การเป็นสมาชิกสหภาพฯ ได้รวดเร็วมากขึ้น ทั้งการช่วยเหลือ สนับสนุน แก้ไขปัญหาสร้างความเข้มแข็ง และพัฒนาในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การปรับเปลี่ยนทางเทคโนโลยีและความมั่นคงทางการเมือง เพื่อแก้ไขความไม่สมดุลระหว่างประเทศในสหภาพฯ
การที่ฮังการีสนับสนุนประเทศในภูมิภาคยุโรปกลางและคาบสมุทรบอลข่านให้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพฯ นอกจากจะเป็นการขยายเขตแดนเชงเก้น การสร้างเขตการค้าเสรีแล้ว ประเด็นสำคัญที่ฮังการีต้องการความร่วมมือจากประเทศสมาชิกฯ คือการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการอพยพข้ามแดนอย่างผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการอพยพผ่านทางประเทศในภูมิภาคบอลข่าน ดังนั้น ประเด็นนี้จึงมีความสำคัญอย่างมากสำหรับฮังการีในแง่ของความมั่นคงทางเมือง
ในช่วง 6 เดือนที่ฮังการีจะดำรงตำแหน่งประธานแห่งคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป รัฐบาลฮังการีจะมุ่งมั่นและผลักดันนโยบายในด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์กับทั้งฮังการี ประเทศในคาบสมุทรบอลข่าน และประเทศสมาชิกอื่นๆ โดยอาจจะเน้นการพัฒนาประเทศในภูมิภาคยุโรปกลาง หรือบอลข่านมากขึ้น ด้วยการนำเสนอนโยบายที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน และภาคธุรกิจ โดยเฉพาะการลดอุปสรรคทางการค้า และการหาช่องทางนำเข้า/ส่งออกสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อพิจารณาเป็นทางเลือกในการค้าขาย ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุน การปรับเปลี่ยนเส้นทางการขนส่งสินค้า รวมทั้ง ข้อเสนอจากประเทศในภูมิภาคฯ นี้ ซึ่งอาจทำให้ประเทศผู้ส่งออก/นำเข้า หันมาให้ความสนใจ
หมายเหตุ : สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ได้จัดทำ Infographic ในประเด็นที่ได้กล่าวมาข้างต้น