อัตราเงินเฟ้อฮังการีทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือนมิถุนายน 2565 อยู่ที่ระดับ 11.7% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2564 และสูงขึ้น 1.5% เมื่อเทียบจากเดือนพฤษภาคม 2565 นับอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2541 โดยสินค้าอาหารมีอัตราการขยายตัวของราคาสูงขึ้นมากที่สุด คิดเป็น 22.1% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2564 ทำให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี (มกราคม – มิถุนายน 2565) อยู่ที่ 9.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา
ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินโฟรินท์กับสกุลหลักยังอ่อนค่าต่อเนื่อง ณ วันที่ 13 กรกฎาคม 2565 อัตราแลกเปลี่ยนพุ่งสูงถึง 411 โฟรินท์/ยูโร อย่างไรก็ตาม หลังธนาคารกลางฮังการีประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย และมีข่าวว่าฮังการีอาจได้รับอนุมัติงบประมาณจากสหภาพยุโรป ค่าเงินก็เริ่มปรับตัวขึ้นเล็กน้อย ณ วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 อัตราแลกเปลี่ยนเงินโฟรินท์กับสกุลหลักอยู่ที่ 399.10 โฟรินท์/ยูโร และ 389.59 โฟรินท์/ดอลลาร์ การอ่อนค่าของสกุลเงินโฟรินท์นี้เป็นผลมาจากภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ ทำให้ต้นทุนของสินค้าและบริการในกลุ่มอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น ประกอบกับการดำเนินมาตรการเลิกพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียของสหภาพยุโรป ทำให้ฮังการีที่พึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบจากรัสเซียเป็นหลักได้รับผลกระทบโดยตรง แม้ว่าฮังการีจะได้รับการยกเว้นจากสหภาพยุโรปในการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียได้จนถึงปี 2567 แต่ก็ต้องวางแผนเพื่อเปลี่ยนไปสู่การใช้แหล่งพลังงานสะอาดอื่น ๆ ที่มีต้นทุนสูงกว่า ซึ่งคาดว่าจะทำให้ค่าบริการสาธารณูปโภคสูงขึ้น
นอกจากนี้ ธนาคารกลางฮังการีเลือกดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด เนื่องจากปัจจุบันฮังการีกำลังเผชิญกับภาวะความไม่แน่นอนทั้งในทางการเมืองจากภาวะสงครามและความขัดแย้งกับสหภาพยุโรป ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อสูงและการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนฮังการียังไม่ได้รับอนุมัติ เงินงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสหภาพยุโรป (EU Recovery and Resilience Facility หรือ EU Recovery Fund) เป็นเหตุให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจฮังการี หากฮังการีไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น ก็จะยิ่งทำให้นักลงทุนมีโอกาสเคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปสู่ประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าหรือให้ผลตอบแทนทางการเงินมากกว่า นำไปสู่การอ่อนตัวลงของค่าเงินตามความต้องการถือเงินที่น้อยลง และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในท้ายที่สุด
ดังนั้น เพื่อปกป้องค่าเงินและรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ ธนาคารกลางฮังการีจึงประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 185 base points (bps) สู่ระดับ 7.75% เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 และขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ (One-Week Deposit Rate) ที่ธนาคารแห่งชาติจะจ่ายให้ธนาคารพาณิชย์ 200 bps สู่ระดับ 9.75% เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในภูมิภาคยุโรปกลาง ทั้งนี้ ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางฮังการีมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 200 bps สู่ระดับ 9.75% เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์และดอกเบี้ยนโยบายเท่ากัน ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป
จากกรณีดังกล่าว สคต. บูดาเปสต์เห็นว่า ฮังการีกำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากแรงผลักของต้นทุน (Cost-Push Inflation) ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย เห็นได้จากต้นทุนสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้น แม้รัฐบาลฮังการีได้ตรึงราคาสินค้าอาหารพื้นฐานบางส่วนและเชื้อเพลิงสำหรับรถป้ายทะเบียนฮังการีแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถยั้งระดับอัตราเงินเฟ้อได้ ในขณะที่ความเชื่อมั่นทั้งในการใช้จ่ายของผู้บริโภค และการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของนักลงทุนต่างชาติลดลง ด้วยเหตุนี้ การเลือกดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดของธนาคารกลางฮังการี จึงอาจจะยิ่งส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่กำหนดโดยธนาคารกลาง ประกอบกับภาวะความไม่มั่นคงต่าง ๆ ทำให้ผู้บริโภคและนักลงทุนมีแรงจูงใจในการใช้จ่ายและลงทุนน้อยลง
สคต. บูดาเปสต์ คาดว่าในระยะสั้นการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศจะยังดำเนินต่อไป ความต้องการการบริโภคสินค้าของผู้บริโภคในฮังการีที่มีแนวโน้มลดน้อยลง อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศน้อยลงเช่นกัน รวมถึงไทยด้วย เช่นเดียวกันกับในภาคบริการและภาคการลงทุน นักท่องเที่ยวฮังการีอาจเน้นเดินทางภายในประเทศมากขึ้นเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย อีกทั้งนักลงทุนฮังการีอาจชะลอการตัดสินใจลงทุน ตลอดจนการเดินทางไปเจรจาธุรกิจในต่างประเทศจนกว่าสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศจะดีขึ้นอีกครั้ง ทั้งนี้ ในระยะยาว ต้องติดตามผลการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดว่าจะสามารถปกป้องค่าเงินและกลับมาเสริมสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนได้อีกครั้งหรือไม่ ประกอบกับการดำเนินนโยบายอื่น ๆ ของรัฐบาลเพื่อควบคุมต้นทุนสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้น และเจรจากับสหภาพยุโรป เพื่อให้ได้รับอนุมัติงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง
ที่มาของข้อมูล: