จากการออกมาตรการเพิ่มเติมในการควบคุมราคาน้ำมันของฮังการี ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2565 ซึ่งกำหนดให้การตรึงราคาค้าปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลและเบนซินที่ 480 โฟรินท์/ลิตร ครอบคลุมเฉพาะรถยนต์ที่มีป้ายทะเบียนฮังการีเท่านั้น ส่วนรถยนต์จากต่างประเทศ ทั้งรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถบรรทุกสินค้า จะต้องจ่ายค่าน้ำมันตามราคาจริง เพื่อแก้ไขปัญหา “Fuel Tourism” หรือการเดินทางจากต่างประเทศ เพื่อเข้ามาเติมน้ำมันราคาถูกในฮังการี ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในการดำเนินนโยบายเพื่อตรึงราคาน้ำมัน และทรัพยากรเชื้อเพลิงที่มีอยู่อย่างจำกัด
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง:
ทว่ารัฐบาลฮังการีไม่ได้มีการหารือกับคณะกรรมาธิการยุโรปก่อนประกาศใช้มาตรการดังกล่าวแต่อย่างใด
ประเทศต่าง ๆ ในสหภาพยุโรปจึงได้ออกมาวิจารณ์การกำหนดราคาสองมาตรฐาน (Dual Pricing) ของรัฐบาลฮังการีว่าอาจเข้าข่ายการเลือกปฏิบัติจากผู้ให้บริการต่อผู้บริโภคบนพื้นฐานของความแตกต่างทางเชื้อชาติซึ่งขัดต่อกฎหมาย “Service Directive” อันเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สหภาพยุโรปใช้เพื่อส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจแบบตลาดเดียว (Single Market) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตอย่างเสรี และกำจัดอุปสรรคทางการค้าภายในสหภาพฯ
ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) จึงเริ่มดำเนินการตรวจสอบในประเด็นดังกล่าวว่ารัฐบาลฮังการีมีเหตุผลและความจำเป็นที่เพียงพอให้ได้รับการยกเว้นจากกฎหมายของสหภาพยุโรปในการดำเนินมาตรการดังกล่าวหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้การดำเนินนโยบายของฮังการีในฐานะประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปส่งผลต่อประสิทธิภาพในการบูรณาการทางเศรษฐกิจของสหภาพฯ ในภาพรวม
จากกรณีดังกล่าว สคต. คาดว่าผลการตรวจสอบอาจทำให้ฮังการีต้องยกเลิกการกำหนดราคาสองมาตรฐาน เนื่องจากความจำเป็นในการออกมาตรการดังกล่าวไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขในการได้รับการยกเว้นจากกฎหมาย Service Directive ที่ครอบคลุมเฉพาะในประเด็นความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ แม้ว่ารัฐบาลฮังการีให้เหตุผลว่าการกำหนดราคาสองมาตรฐานจะช่วยให้รัฐบาลสามารถดำเนินมาตรการตรึงราคาน้ำมันได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการควบคุมภาวะเงินเฟ้ออันเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่จากสถานการณ์ในปัจจุบันที่ฮังการีได้รับข้อยกเว้นจากมาตรการ การคว่ำบาตรรัสเซียของสหภาพยุโรปผ่านการเลิกพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย สถานการณ์การขาดแคลนพลังงาน ตลอดจนต้นทุนราคาน้ำมันจึงน่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อของฮังการีอาจไม่รุนแรงจนกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ อย่างไรก็ดี การยกเลิกการกำหนดราคาสองมาตรฐานอาจส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อในประเทศยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจจากภาวะเงินเฟ้อ จึงอาจส่งผลกระทบต่อทั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากต่างประเทศ และกำลังซื้อของผู้บริโภคภายใประเทศที่ลดลง ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องเป็นปริมาณการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศรวมถึงไทยที่ลดลงด้วยเช่นกัน
การติดตามข่าวสารในประเด็นนี้จำเป็นต้องติดตามควบคู่ไปกับประเด็นการเรียกร้องให้มีการพิจารณาการให้ข้อยกเว้นแก่ประเทศฮังการี สาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกีย บัลแกเรีย และโครเอเชีย ในการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียด้วยเช่นกัน เนื่องจากหากฮังการีถูกเพิกถอนสิทธิในข้อยกเว้นดังกล่าว ต้นทุนราคาน้ำมันในประเทศก็อาจยิ่งสูงขึ้น หรือหากรัฐบาลฮังการีโต้ตอบด้วยการคัดค้าน ก็อาจยิ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างฮังการีกับสหภาพยุโรป ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องเป็นการระงับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจในด้านอื่น ๆ ในอนาคต ตลอดจนกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากต่างประเทศด้วยเช่นกัน
ที่มาของข้อมูล:
Makszimov, Vlad. “European Commission to “Investigate” Hungary’s Discriminatory Petrol Price Rules.” Euractive, 1 June 2022, www.euractiv.com/section/politics/short_news/european-commission-to-investigate-hungarys-discriminatory-petrol-price-rules/. Accessed 7 June 2022.