การปรับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะพลังงานเชื้อเพลิงในตลาดโลก จากการจำกัดปริมาณการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน ความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นมากหลังเศรษฐกิจโลกทยอยฟื้นตัว ปัญหาการขาดตอนของห่วงโซ่อุปทาน และที่สำคัญที่สุด คือการโจมตียูเครนของกองทัพรัสเซีย เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาวะเงินเฟ้อโลกทวีความรุนแรงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน
รัฐบาลประเทศในทวีปยุโรปหลายประเทศเร่งออกมาตรการระยะสั้นเพื่อควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ โดยในที่นี้จะลงรายละเอียดเฉพาะเขตอาณาของ สคต. บูดาเปสต์ ดังต่อไปนี้
ด้านการบริโภคพลังงานในครัวเรือน รัฐบาลโครเอเชียมีนโยบายอุดหนุนค่าแก๊สทำความอบอุ่นสำหรับบ้านอยู่อาศัยและ SME ที่ 0.1 และ 0.15 คูน่าต่อ 1 kWh ตามลำดับ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 (ประมาณ 50 และ 70 สตางค์/kWh) อีกทั้ง ยังกำหนดเพดานการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าให้ขึ้นได้ไม่เกิน 9.6% จากระดับราคาเดิม ส่วนค่าแก๊สทำความอบอุ่น ให้ขึ้นได้ไม่เกิน 20% รวมถึงลด VAT ค่าแก๊สทำความอบอุ่น และแหล่งพลังงานความร้อนอื่นๆ เช่น ถ่าน ฟืนก่อไฟ จาก 25% เหลือ 13% ในระดับเดียวกับค่าไฟฟ้า โดยมีผลถาวร และช่วง 1 เมษายน 2565 – 31 มีนาคม 2566 ประกาศใช้อัตรา VAT พิเศษสำหรับค่าแก๊สทำความอบอุ่น ที่ 5% (จากเดิมที่ลดลงเหลือ 13%)
– ช่วงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 – 31 มีนาคม 2565 กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกที่ 1 ลิว/kWh (ประมาณ 7.43 บาท) สำหรับบ้านอยู่อาศัย สถานศึกษา สถานพยาบาล องค์กร NGO หน่วยงานสังคมสงเคราะห์ สถานที่ราชการ และศาสนสถาน
– กำหนดเพดานราคาก๊าซธรรมชาติที่ไม่เกิน 250 ลิว/1000 kWh
– ลด VAT ค่าไฟฟ้าและแก๊สทำความอบอุ่น จาก 19% เหลือ 5%
– เดือนมกราคม 2565 รัฐสภาโรมาเนียปรับปรุงมาตรการตรึงราคาค่าสาธารณูปโภค กล่าวคือช่วงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 31 มีนาคม 2565 ปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าตามบ้านลงเหลือ 0.8 ลิว/kWh (ประมาณ 5.95 บาท/หน่วย) เนื่องจากได้ขยายเพดานอัตราเงินอุดหนุนค่าไฟเป็นไม่เกิน 0.291 ลิว/kWh (ประมาณ 2.3 บาท/หน่วย) สำหรับครัวเรือนที่บริโภคไฟฟ้าไม่เกิน 500 kWh/เดือน ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติจะคงไว้ที่ 0.31 ลิว/kWh สำหรับผู้บริโภคทุกประเภทที่บริโภคก๊าซธรรมชาติไม่เกิน 500 kWh/เดือน
ทั้งนี้ ราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับครัวเรือน และธุรกิจ/อุตสาหกรรมในโรมาเนียและโครเอเชีย ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย EU ทว่าประชาชนชาวโรมาเนียและโครเอเชียส่วนมากยังมีระดับรายได้ต่ำ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องบังคับใช้มาตรการควบคุมราคาค่าไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติต่อไปเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
รูปภาพที่ 1 และ 2: เปรียบเทียบราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับการบริโภคในครัวเรือนและอุตสาหกรรม
ระหว่างประเทศสมาชิก EU ครึ่งปีแรกของปี 2564
ที่มาของข้อมูล: คณะกรรมาธิการยุโรป
แผนภูมิดังต่อไปนี้แสดงปริมาณการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศของประเทศสมาชิก EU ประจำปี 2562 สนับสนุนข้อเท็จจริงที่ว่า EU มีการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานน้อยมาก ค่าเฉลี่ยทั้ง EU อยู่ที่ 61% แปลว่า EU ต้องนำเข้าพลังงานเกือบกึ่งหนึ่งของปริมาณการบริโภค เพื่อขดเชยปริมาณการผลิตของตนเอง ที่ยังคงต่ำอยู่ จึงเป็นอีกสาเหตุที่ EU เร่งดำเนินนโยบายวิจัยและพัฒนาพลังงานหมุนเวียน เพื่อเสริมความมั่นคงทางพลังงานให้ตนเอง จุดที่น่าสนใจคือ ปี 2563 EU นำเข้าพลังงานน้อยลงตามปริมาณการบริโภคพลังงานที่น้อยลง เนื่องจากมีการใช้มาตรการล็อคดาวน์ในหลายประเทศ โดยนำเข้าพลังงานโดยรวมน้อยลง 9% จากปริมาณการนำเข้าในปี 2562 แต่ในครึ่งปีแรกของปี 2564 EU กลับมานำเข้าพลังงานมากขึ้นตามการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
รูปภาพที่ 3: ปริมาณการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศของประเทศสมาชิก EU ประจำปี 2562
ที่มาของข้อมูล: คณะกรรมาธิการยุโรป
รูปภาพที่ 4 และ 5: สัดส่วนแหล่งนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ของ EU ประจำปี 2562
ที่มาของข้อมูล: คณะกรรมาธิการยุโรป
รูปภาพที่ 6: สัดส่วนแหล่งนำเข้าก๊าซธรรมชาติ[1] ของ EU ช่วงปี 2558-2564 โดย Production สีฟ้าหมายถึงปริมาณที่ประเทศใน EU ผลิตได้เอง
ที่มาของข้อมูล: Bruegel
รูปภาพที่ 7: สัดส่วนแหล่งนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมของ EU ประจำปี 2563 และไตรมาส 1/2564
ที่มาของข้อมูล: คณะกรรมาธิการยุโรป
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่า ปริมาณน้ำมันที่บริโภคภายใน EU ราว 25% และการบริโภคก๊าซธรรมชาติภายใน EU กว่า 40% นำเข้าจากรัสเซีย ส่วนภูมิภาคบอลข่านนั้น แม้ไม่มีรายงานแสดงสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันในภาพรวมที่ชัดเจน ทว่าหน่วยงาน ด้านการกำกับพลังงานใน EU Agency for the Cooperation of Energy Regulators (ACER) เปิดเผยข้อมูลสัดส่วนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียต่อปริมาณการนำเข้าทั้งหมดของประเทศใน EU และประเทศเพื่อนบ้าน ประจำปี 2560 ดังนี้
รูปภาพที่ 8: สัดส่วนแหล่งนำเข้าก๊าซธรรมชาติของ EU และประเทศเพื่อนบ้าน ช่วงปี 2558-2564
ที่มาของข้อมูล: Bloomberg Quint
ด้านเส้นทางลำเลียงพลังงานจากรัสเซียสู่บอลข่าน บริษัท Gazprom ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ของรัสเซียด้านอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และบริษัทสัญชาติรัสเซียอื่นๆ เช่น Novatek, Rosneft, Lukoil และ Surgutneftegas เป็นต้น ใช้ท่อส่งก๊าซ Turk Stream จากรัสเซียไปตุรกี ลอดใต้ทะเลดำ และมีเครือข่ายรองคือ South Stream Lite เริ่มต้นที่บัลแกเรีย ขนส่งก๊าซไปยังบอลข่านและยุโรปกลาง สิ้นสุดที่เมือง Baumgarten ในประเทศออสเตรีย
รูปภาพที่ 9: แผนภาพเครือข่ายและเส้นทางท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ผ่านภูมิภาคบอลข่าน
ที่มาของข้อมูล: Euronews
อีกเส้นทางการลำเลียงก๊าซธรรมชาติของบอลข่าน คือเครือข่ายท่อส่งก๊าซจากรัสเซียผ่านยูเครน ซึ่งประเทศในภูมิภาคบอลข่านจะได้รับผ่านท่อที่มาจากฮังการี โรมาเนีย และบัลแกเรีย
รูปภาพที่ 10: แผนภาพเครือข่ายและเส้นทางท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียผ่านยูเครน
ที่มาของข้อมูล: Independent Commodity Intelligence Services
ส่วนท่อลำเลียงน้ำมันดิบจากรัสเซีย บริษัทน้ำมันรัสเซียใช้เครือข่ายท่อน้ำมัน Druzhba ซึ่งใช้มาตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียต เส้นทางท่อขนส่งน้ำมันเข้าประเทศสมาชิก EU จะผ่านเบลารุสและยูเครน รัสเซียส่งออกน้ำมันดิบไปยังประเทศคู่ค้าในทวีปยุโรปโดยเฉลี่ยวันละประมาณ 2.3 ล้านบาร์เรล จากปริมาณการผลิตโดยเฉลี่ยปี 2564 ที่วันละประมาณ 10.52 ล้านบาร์เรล
รูปภาพที่ 11: แผนภาพเครือข่ายและเส้นทางท่อขนส่งน้ำมันดิบจากรัสเซียไปทวีปยุโรป
ที่มาของข้อมูล: Bloomberg
ด้านแหล่งนำเข้าพลังงานของโครเอเชียและเซอร์เบีย ในปี 2564 ก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนราว 89% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมดของเซอร์เบีย ส่วนสัดส่วนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียของโครเอเชียอยู่ที่ 68% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด
ส่วนการนำเข้าน้ำมันดิบ น้ำมันดิบจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนราว 60% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมดของเซอร์เบีย อีก 40% คือนำเข้าจากอิรัก ส่วนสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียของโครเอเชียอยู่ที่ 53% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด และมีการกระจายการนำเข้าจากแหล่งอื่นด้วย เช่น อาเซอร์ไบจาน คาซัคสถาน อิรัก ลิเบีย เป็นต้น ทั้งนี้ น้ำมันดิบจากรัสเซียจะผ่านโรงกลั่นในประเทศใน EU เช่น อิตาลี ฮังการี โรมาเนีย ฯลฯ อีกที
วิกฤตการขาดแคลนพลังงานที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องหลายปี ประกอบกับการรับมือเฉพาะกิจในภาวะวิกฤตการโจมตียูเครนของรัสเซีย ซึ่งอาจส่งผลต่อการขาดแคลนพลังงานในยุโรป
เมื่อพิจารณาประเด็นความมั่นคงทางพลังงาน และแนวโน้มการพัฒนาการจัดการพลังงาน-เปลี่ยนผ่านไปสู่
การใช้พลังงานสะอาด ในกรณีของโครเอเชียและเซอร์เบีย โครเอเชียมีโรงงานผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ที่ยังใช้งานเพียงแห่งเดียว คือเหมืองถ่านหินเมือง Plomin ในแคว้น Istria แต่ได้ประกาศจะเลิกใช้เหมืองถ่านหินภายในปี 2583 โครเอเชียยังคงมีแหล่งปิโตรเลียมในน่านน้ำโครเอเชีย จึงมีอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นของตนเอง บริษัทพลังงานแห่งชาติที่สำคัญ ที่ประกอบธุรกิจด้านพลังงานและปิโตรเคมีอย่างครบวงจร ได้แก่ INA, Jadranski naftovod, LNG Hrvatska และ Plinacro ทว่าก็ยังไม่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ จึงต้องนำเข้าพลังงานด้วย สัดส่วนของการผลิตน้ำมันดิบเองต่อการนำเข้า อยู่ที่ 20:80 โดยนำเข้าจากรัสเซียประมาณ 40-50% และประเทศอื่นๆ เช่น อาเซอร์ไบจาน คาซัคสถาน อิรัก ลิเบีย เป็นต้น สัดส่วนของการผลิตพลังงานเองต่อการนำเข้า อยู่ที่ 67:33 สำหรับก๊าซธรรมชาติ และ 67.5:32.5 สำหรับพลังงานไฟฟ้า ส่วนสัดส่วนการผลิตและนำเข้าน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล รวมถึงผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอื่นๆ อยู่ที่ประมาณ 50:50 โดยนำเข้าปิโตรเลียมจากโรงกลั่นในประเทศในสหภาพยุโรป (EU) เช่น อิตาลี สโลวีเนีย และฮังการี นอกจากนี้ โครเอเชียยังมีศักยภาพในการผลิตพลังงานความร้อนใต้พิภพจากทะเลอาเดรียติกจำนวนหนึ่ง อันดับภาคส่วนที่บริโภคพลังงานมากที่สุด คือ ครัวเรือน การคมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรม ธุรกิจภาคบริการ เกษตรกรรม และอาคารพาณิชย์ ตามลำดับ
รัฐบาลโครเอเชียประกาศใช้แผนแม่บทการจัดการพลังงาน (Energy Strategy 2030) เพื่อส่งเสริมพลังงานสะอาดตามนโยบาย European Green Deal และข้อตกลง COP26 โดยเฉพาะพลังงานลมและพลังงานน้ำ ต้องการขยายการผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานที่ยั่งยืน เพื่อลดปริมาณการนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิง และควบคุมราคาพลังงานให้เข้าถึงประชาชนทุกคน
สำหรับเซอร์เบียนั้น เช่นเดียวกับบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ยังคงใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นแหล่งพลังงานหลักถึง 70% ของปริมาณพลังงานที่ผลิตได้ทั้งหมด และส่งออกถ่านหินด้วย ถือเป็นประเทศผู้ผลิตถ่านหินขนาดกลาง สัดส่วนของการผลิตพลังงานเองต่อการนำเข้า อยู่ที่ 90:10 สำหรับก๊าซธรรมชาติ โดยรัสเซียเป็นคู่ค้าก๊าซธรรมชาติรายสำคัญของเซอร์เบีย ทว่ารัฐบาลเซอร์เบียกำลังเริ่มดำเนินการแผนการจัดการพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ โดยเฉพาะพลังงานน้ำ ที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างน้อย 1 ใน 4 ของปริมาณพลังงานที่ผลิตได้ทั้งหมด และลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล อันเป็นสาเหตุสำคัญของการก่อมลภาวะทางอากาศในภูมิภาคบอลข่าน เซอร์เบียจำเป็นต้องจัดทำแผนการอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานหมุนเวียน เนื่องจากเซอร์เบียประเทศสมาชิกสนธิสัญญา Energy Community Treaty ซึ่งมีภาระผูกพันในการดำเนินนโยบายพลังงานสะอาดและก่อตั้งตลาดพลังงานยุโรป (Pan-European Energy Market) และการจัดทำแผนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการบูรณาการเข้า EU เพื่อบรรลุเงื่อนไขการสมัครเป็นสมาชิก EU
ล่าสุด เมื่อปลายเดือนมกราคม 2565 กระทรวงพลังงานเซอร์เบียแถลงว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงจัดประชุมเวทีสาธารณะ เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนแม่บท National Energy and Climate Plan ว่าด้วยการกำหนดแนวทางการจัดการพลังงานและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประจำปี 2564-2573 และร่างแผนยุทธศาสตร์ Energy Sector Development Strategy ว่าด้วยการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก จนถึงปี 2593 จากนั้นจะนำกลับมาทบทวน ก่อนประกาศใช้จริงต่อไป โดยการดำเนินโครงการตามแผนดังกล่าวจะได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก EU
จากสถานการณ์การสู้รบระหว่างกองทัพรัสเซียและยูเครนในปัจจุบันที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ พันธมิตรชาติตะวันตกได้ออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพื่อตอบโต้การรุกรานของรัสเซียต่อไปอีก โดยมาตรการล่าสุดครั้งที่สี่เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา EU และสหราชอาณาจักรระงับการส่งออกสินค้าฟุ่มเฟือยไปยังรัสเซีย เพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยจากรัสเซีย และขยายรายชื่อพลเมืองรัสเซียที่ถูกแบนไม่ให้เข้าอียูเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึง
นักธุรกิจ บริษัทต่างๆ และผู้มีอิทธิพลทางการเมืองกว่า 600 ราย นอกจากนี้ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป นาง Ursula von der Leyen ประกาศว่าจะลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย 66% ภายในปีนี้ เพื่อไปสู่เป้าหมายการเลิกพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงจากรัสเซียภายในปี 2573 ทว่าปัจจุบันยังไม่สามารถตกลงกันได้
เรื่องรายละเอียดของมาตรการระงับการนำเข้าสินค้าพลังงาน (น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน) จากรัสเซียได้ในเร็ววัน ซึ่งหากมีการใช้บังคับใช้มาตรการดังกล่าวจริง จะกระทบต่อปริมาณน้ำมันในตลาดโลก เนื่องจากรัสเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันรายใหญ่แห่งหนึ่งของโลก และกลุ่มโอเปกยังไม่มีกำลังผลิตที่มากพอที่จะมาชดเชยน้ำมันจากรัสเซียได้
ทั้งนี้ ผลการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศสมาชิก EU ณ พระราชวังแวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น แสดงให้เห็นว่าในบรรดาผู้นำ EU เองก็ยังมีความเห็นไม่ตรงกันด้านการยกเลิกการซื้อขายพลังงานล่วงหน้าจากรัสเซียเพื่อกดดันรัฐบาลรัสเซีย หลายประเทศ เช่น เยอรมนี ออสเตรีย และฮังการี มองว่าการตัดสินใจดังกล่าวจะยิ่งทำให้ประชาชนลำบากยิ่งขึ้น เพราะราคาค่าสาธารณูปโภคจะพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก และเกิดภาวะขาดแคลนพลังงานได้ เนื่องจาก EU มีดัชนีการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานน้อยมาก ต้องนำเข้าพลังงานราวกึ่งหนึ่งของปริมาณการบริโภคภายในสหภาพฯ ด้านการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย EU นำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียกว่า 40% นำเข้าน้ำมันราว 25% และนำเข้าถ่านหินเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด ทว่ามีความพยายามที่จะหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ตามนโยบาย European Green Deal
ดังนั้น พลังงานสะอาด พลังงานทางเลือก และพลังงานหมุนเวียน จึงเป็นแนวโน้มการผลิตไฟฟ้าแห่งอนาคต และจะมีบทบาทมากขึ้นในตลาดค้าพลังงานโลกที่เปิดเสรีมากขึ้น เนื่องจากนานาประเทศทั่วโลกต่างมุ่งมั่นจะแก้ไขปัญหาภูมิอากาศ และทำให้ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนมีราคาถูกลง ช่วยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ที่จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิสู่ชั้นบรรยากาศให้เป็นศูนย์ภายในปี 2573 ส่วนประเทศไทยนั้นก็มีการกำหนดยุทธศาสตร์การมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย ภายในปี 2593 และการขับเคลื่อน Circular Economy และ Green Economy (ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) ตามโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG
การที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังจากหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เช่น ภาคการผลิตพลังงานไฟฟ้า น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ การคมนาคมขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม ธุรกิจภาคบริการ เป็นต้น แม้ว่าในปัจจุบัน ประเทศในทวีปยุโรปจะยังคงใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่มาก เห็นได้จากมาตรการฉุกเฉินของรัฐบาลหลายประเทศที่เน้นการควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในระยะสั้น ทว่าในระยะยาวนั้นทุกประเทศมุ่งหน้าสู่การใช้พลังงานสะอาด ดำเนินนโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เน้นการพึ่งพาตนเองหรือประเทศในกลุ่มความร่วมมือเป็นหลัก และลดปริมาณการใช้แหล่งพลังงานที่ก่อมลภาวะลงเรื่อยๆ ฉะนั้น การกำหนดนโยบายความร่วมมือด้านพลังงานของไทยกับประเทศในทวีปยุโรปในระยะยาว ควรเน้นการร่วมวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน ซึ่งรวมถึงการค้าสินค้า/บริการหมวดเทคโนโลยีพลังงานสะอาดด้วย
แหล่งข้อมูล: Argusmedia, Balkan Green Energy News, Balkan Insight, Bankwatch (1, 2), DW, Energy Community, Energy Industry Review, Euractive, Euronews (1, 2), N1Info, Reuters (1, 2), SEE News (1, 2, 3), ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
มีนาคม 2565