รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฮังการี นาย Peter Szijjártó แถลงเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 ว่า บริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ไฟฟ้า (รถ EV) สัญชาติญี่ปุ่น TDK ที่มีโรงงานในฮังการี ณ เมือง Szombathely ทางตะวันตกของฮังการี ประกาศลงทุนสร้างโรงงานใหม่ขนาด 10,000 ตารางเมตร เพื่อผลิตเซนเซอร์รถ EV โดยเฉพาะ ในวงเงินลงทุน 2.6 หมื่นล้านโฟรินท์ (ประมาณ 2.6 พันล้านบาท) และวางแผนจะจ้างแรงงานเพิ่มเติมในโรงงานประมาณ 250 คน
บริษัท TDK จะได้รับงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลฮังการี 6.6 พันล้านโฟรินท์ (ประมาณ 660 ล้านบาท) ตามนโยบายสนับสนุนการลงทุนของต่างชาติในต่างจังหวัด เนื่องจากการลงทุนดังกล่าวเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฮังการี ช่วยให้พลเมืองฮังการีมีงานทำ ยกระดับคุณภาพชีวิต มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ภาพที่ 1: อัตราส่วนงบประมาณอุดหนุนการลงทุนจากรัฐบาลฮังการี ตามสถานที่ตั้งของโครงการลงทุน
ที่มาของข้อมูล: Hungarian Investment Promotion Agency
รมว.กต.ฮังการียังกล่าวอีกว่า ประเทศฮังการีเป็นจุดหมายการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนจากเอเชียมากขึ้น โดยสัดส่วนการลงทุนโดยตรงของต่างชาติ (Foreign Direct Investment หรือ FDI) ในฮังการีประจำปี 2564 กว่า 70% มาจากบริษัทสัญชาติเอเชีย สูงขึ้นมากกว่าสถิติปี 2553 ที่มีการลงทุนจากเอเชียในฮังการีเพียง 20% เนื่องจากบริษัทใหญ่จากเอเชียมีนวัตกรรมการผลิตที่ทันสมัย อีกทั้งมีสภาพทางการเงินดี มั่นคง มีศักยภาพในการลงทุน
รัฐบาลฮังการีดำเนินนโยบายการต่างประเทศ Eastern Opening ตั้งแต่ปี 2554 มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริม FDI เข้ามาในประเทศ และขยายมูลค่าการส่งออกของฮังการี โดยมุ่งเป้าไปที่การรุกเจริญสัมพันธไมตรีกับตลาดเกิดใหม่ เพื่อลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากตลาดเดิมในทวีปยุโรป โดยเฉพาะจากภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และกลุ่มประเทศอาเซียน เนื่องจากตลาดในประเทศมีพลวัตทางเศรษฐกิจสูง และเศรษฐกิจมีศักยภาพในการเติบโต ผลของการดำเนินนโยบายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทำให้มูลค่า FDI สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ด้านความสัมพันธ์ฮังการี-ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศคู่ค้าสำคัญของฮังการี เนื่องจากเป็นประเทศผู้ลงทุนในฮังการีรายใหญ่อันดับที่ 7 โดยส่วนใหญ่ลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตอาหาร เมื่อพิจารณาสถิติการค้าระหว่างประเทศแล้ว ข้อมูลปี 2564 แสดงให้เห็นว่า มูลค่าการส่งออกของฮังการีไปยังญี่ปุ่นอยู่ที่ 830 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.76 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นถึง 18% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ทั้งนี้ มูลค่าการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ฮังการีประจำปี 2564 สูงถึง 9.4 ล้านล้านโฟรินท์ (ประมาณ 9.4 แสนล้านบาท) มากกว่ามูลค่าในปี 2553 ราว 2.5 เท่า รัฐบาลฮังการีมองว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะรถ EV เป็นเทรนด์อุตสาหกรรมที่สำคัญของโลก และจะมีบทบาทในตลาดมากขึ้นในอนาคต เพราะกลุ่มผู้ใช้รถยนต์รายใหม่ในตลาดประเทศกลุ่มประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (Advanced Economies) ที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีแนวโน้มเลือกใช้รถยนต์พลังงานทางเลือกมากขึ้น อีกทั้งโครงสร้างราคายังมีแนวโน้มถูกลงตามเทคโนโลยีการผลิตที่่พัฒนาอยู่ตลอด ฉะนั้น ประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปต่างก็กำลังแข่งกันดึงดูดผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ลงมาลงทุนในประเทศของตน เพราะการลงทุนเหล่านั้นเป็นการรับประกันการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
ความเห็นของ สคต.
ฮังการีเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์สำคัญแห่งหนึ่งในยุโรป เนื่องจากมีต้นทุนราคาที่ดินและแรงงานมีทักษะที่ไม่สูงมากเมื่่อเทียบกับประเทศยุโรปตะวันตก รัฐบาลฮังการีมีงบประมาณสนับสนุนอุตสาหกรรมสมัยใหม่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีข้อได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาคยุโรปกลาง มีพรมแดนติดต่อกับหลายประเทศ เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างทวีปยุโรปและเอเชีย รวมทั้งภูมิภาคยุโรปตะวันตกและตะวันออก ระบบโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งสินค้าของประเทศฮังการีกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อำนวยความสะดวกในการขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้าภายในทวีปยุโรป อีกทั้งยังมีโอกาสในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์กับทั้งบริษัทเอกชน และสถาบันอุดมศึกษา ฉะนั้น บริษัทผลิต/ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไทยอาจพิจารณาลงทุนในฮังการี เพื่อลดต้นทุนการขนส่งสินค้ามายังตลาดในยุโรป
ที่มาของข้อมูล: About Hungary, Origo